พัฒนาการของห้องสมุดและศูนย์เอกสารการสัตว์

คณะสัตวแพทยศาสตร์ได้เริ่มก่อตั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2478 พัฒนาการของห้องสมุดและศูนย์เอกสารการสัตว์จึงค่อยๆ เริ่มขึ้นตามความจำเป็นเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน พร้อมการจัดตั้งคณะ

      ห้องสมุดและศูนย์เอกสารการสัตว์ ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารคณะทุกสมัย จึงพัฒนาและขยายพื้นที่กว้างขวางขึ้นตามลำดับเพื่อให้เหมาะสมกับทรัพยากรต่างๆ ของห้องสมุดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกปี

    ห้องสมุดและศูนย์เอกสารการสัตว์ เป็นห้องสมุดอ้างอิงเฉพาะทางการสัตว์ ที่ได้เก็บรวบรวมหนังสือวารสารและเอกสารสิ่งพิมพ์ตลอดจนฐานข้อมูล ทั้งของไทย และต่างประเทศด้านการสัตว์ไว้มากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะ Collection พิเศษที่ห้องสมุดพยายามเก็บรวบรวม เช่นเอกสารรายงานการประชุมวิชาการด้านการสัตว์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ งานวิจัยด้านปศุสัตว์ในประเทศไทย เป็นต้น

  • 1

    พ.ศ.2477

    มีพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2477 จัดตั้งแผนกอิสระชื่อแผนกสัตวแพทยศาสตร์

  • 2

    พ.ศ.2478

    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มมีนิสิตเตรียมสัตวแพทยศาสตร์เป็นครั้งแรก

  • 3

    พ.ศ.2481

    ห้องสมุดสัตวแพทยศาสตร์ มีพัฒนาการขึ้นมาพร้อมๆกับการต่อตั้งแผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวางโครงการสร้างอาคารสถานศึกษา อย่างทันสมัยของแผนกสัตวแพทย์ขึ้นที่ปลาย ถนนพญาไท ในที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ปัจจุบันอาคารดังกล่าวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลราชวิถี) โดยในระยะแรกมีลักษณะเป็นเพียงห้องอ่านหนังสือสำหรับอาจารย์ ค่อยๆ ขยับขยายมาเป็นห้องสมุดเมื่อศาสตราจารย์ พ.ท. หลวง ชัยอัศวรักษ์ M.R.C.V.S., สพ.ด. มารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาอิสระแพทย์    ในปี พ.ศ.2481

  • 4

    พ.ศ.2482

    ทางแผนกวิชาสัตวแพทย์ ได้ว่าจ้าง Dr.R.P. Jones M.R.C.S. และ Dr.Winther M.R.C.V.S., M.A.  ซึ่งเป็นสัตวแพทย์ชาวอังกฤษทั้ง 2 ท่าน มาเป็นอาจารย์ประจำ ซึ่งอาจารย์ทั้งสองมีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนการจัดตั้งห้องสมุด ในระยะแรกรวมทั้งการบริจาคหนังสือส่วนตัว เกี่ยวกับสัตวแพทย์หลายเล่มให้แก่ห้องสมุด

  • 5

    พ.ศ.2495

    ห้องสมุดย้ายมาอยู่ตึกเก่าของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ถนนสนามม้า หรือ อังรีดูนังต์ปัจจุบัน

  • 6

    พ.ศ.2499

    ห้องสมุดคณะสัตวแพทยศาสตร์  ย้ายมาอยู่ที่อาคาร2 อาคารเก่า (อาคาร2 ชั้นรูปตัวยู)     ของคณะ ที่ถนนสนามม้าหรืออังรีดูนังต์ ในปัจจุบันห้องสมุดคณะสัตวแพทย์ได้รับการเอาใจใส่ดูแล จากคณบดีเป็นอย่างดี ทุกสมัยตั้งแต่ศาสตราจารย์ พ.ท. หลวงชัยอัศวรักษ์ ศาสตราจารย์เตียง ตันสงวน ศาสตราจารย์ ดร. อายุส พิชัยชาญณรงค์ รองศาสตราจารย์ ร.ท. ประสิทธิ์ โพธิปักษ์และรองศาสตราจารย์ ระบิล รัตนพานี แม้ในสมัยต้นๆ จะยังไม่มีบรรณารักษ์ทำหน้าที่โดยเฉพาะ คณบดีก็จะเป็นผู้รับผิดชอบเอง เช่น ในสมัย พ.ท. หลวงชัยอัสวรักษ์เป็นคณบดีและต่อมาท่านได้มอบหมายให้ ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. ชนาญวัต เทวกุล เป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อศาสตราจารย์ ม.ร.ว. ชนาญวัตย้ายไปอยู่คณะวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.เล็ก ธนสุกาญจน์ ก็เป็นผู้รับผิดชอบเองแทนอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อศาสตราจารย์เตียง ตันสงวน เป็นคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ และศาสตราจารย์หัวหน้าแผนกวิชาพยาธิวิทยา ประจำปี 2507 ในข้อ 1. งานในหน้าที่ประจำซึ่งมี 7 ข้อย่อยนั้น ในข้อที่ 7 ท่านเขียนไว้ว่า “ ทำหน้าที่บรรณารักษ์ของห้องสมุด โดยควบคุม และค้นคว้าจัดหาหนังสือตำราต่างประเทศ เป็นสมบัติของห้องสมุดเพื่อให้อาจารย์และนิสิตได้ใช้ศึกษาและค้นคว้าทั่วไป ” จากบันทึกนี้เป็นข้อยืนยันได้ว่าผู้บริหารคณะสัตวแพทยศาสตร์ ให้ความสนใจงานห้องสมุดอย่างจริงจังในสมัยของศาสตราจารย์เตียงท่านทำให้มีวารสารและตำราวิชาการใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ ห้องสมุดของคณะจึงมีตำราและวารสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

  • 7

    พ.ศ.2500

    ศาสตราจารย์เตียง ตันสงวนให้ลูกจ้างประจำมาทำงานประจำในห้องสมุดโดยตัวท่านเองทำหน้าที่บรรณารักษ์    เมื่อศาสตราจารย์ ดร.อายุ พิชัยชาญณรงค์ เป็นคณบดีก็ได้รับมอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ระบิล รัตนพานี เลขานุการคณะเป็นผู้รับผิดชอบ

  • 8

    พ.ศ.2514

    เมื่อสร้างอาคารใหม่ (อาคาร 5 มักเรียกว่าอาคารหัวโต) ของคณะสัตวแพทยศาสตร์สร้างเสร็จห้องสมุดจึงย้ายอยู่ในส่วนหนึ่งบนชั้น 2 ของสำนักคณบดีด้วย

  • 9

    พ.ศ.2517

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์ พุ่มวิเศษ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าห้องสมุดคณะสัตวแพทยศาสตร์ เนื่องจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจักษ์ พุ่มวิเศษ เป็นผู้ที่สนใจกิจกรรมห้องสมุดเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อศึกษาอยู่ในต่างประเทศ โดยได้ศึกษาการบริหารงานห้องสมุดของมหาวิทยาลัยและของศูนย์การแพทย์ต่างๆ รวมทั้งห้องสมุดสัตวแพทย์ในประเทศต่างๆ ทั้งในสหราชอาณาจัก ยุโรป แคนาดา และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้ศึกษาการปฎิบัติงาน Commonwealth Bureau of Animal Health ซึ่งเป็นสถาบันหนึ่งของ Commonwealth Agricultural Bureaux (CAB) อีกด้วย จึงได้ทำการปรับปรุงกิจการห้องสมุดคณะสัตวแพทยศาสตร์มากมาย

  • 10

    พ.ศ.2519

    บรรจุบรรณารักษ์ อัตราและตำแหน่งแรกเข้าทำงาน

  • 11

    พ.ศ.2540

    ห้องสมุดและศูนย์เอกสารการสัตว์ ได้ย้ายจากชั้น 2 อาคาร 5 ชั้น (ตึกหัวโต)  มาอยู่ที่ชั้น 9  อาคาร 60  ปี สัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นอาคาร 14 ชั้น สร้างใหม่และได้มีการวางแผนการใช้พื้นที่อาคารชั้น 9 ไว้ตั้งแต่ทำแปลนการก่อสร้างอาคารหลังนี้ ให้พื้นที่ 1,200ตารางเมตร เป็นห้องสมุดและศูนย์เอกสารการสัตว์ หัวหน้าห้องสมุดได้มีโอกาสให้ข้อมูล ระบุพื้นที่ใช้สอยให้กับสถาปนิกผู้ออกแบบ ทำให้ห้องสมุดมีการจัดสรรพื้นที่ ที่ดูแลโปร่งสบายตา เป็นที่ชื่นชอบของผู้ปฎิบัติงานและผู้มาเยี่ยมชม

  • 12

    พ.ศ.2542

    ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ให้เป็นห้องสมุดดีเด่น

  • 13

    พ.ศ.2544

    ได้มีการประกาศจากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง มาตรฐานห้องสมุดเฉพาะ พ.ศ.2544 โดยที่สมาชิกของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ควรปรับปรุงแก้ไขมาตราฐานห้องสมุดเฉพาะให้สอดคล้องกับการพัฒนาดังกล่าวตามการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีการกำหนดโครงสร้างการบริหารห้องสมุดอย่างชัดเจน หน้าที่ความรับผิดชอบ การบริการและความร่วมมือระหว่างห้องสมุด ทรัพยากรสารสนเทศ บุคลากร เป็นต้น